สถาบันสร้างสรรค์คอนเทนต์ไต้หวัน (TAICCA) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของตลาดไทย ในฐานะตัวแทนและตลาดที่มีดัชนีความนิยมสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการ์ตูน BL (Boy’s Love) และไลท์โนเวลของไต้หวันในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว ในปีนี้สถาบันฯ จึงได้กลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อจัด “งานสัมมนาหนังสือภาพคัดสรรและคาแรกเตอร์ลิขสิทธิ์จากไต้หวัน” รวมถึงจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (SPEED-MATCHING) เพื่อแนะนำลิขสิทธิ์ของเหล่าคาแรกเตอร์ดังยอดนิยมเป็นครั้งแรก รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการตัวอย่างหนังสือภาพ โดยหวังว่ากิจกรรมจับคู่ธุรกิจและการจัดแสดงนิทรรศการนี้ จะไม่เพียงแต่ช่วยให้ตลาดต่างประเทศได้รู้จักกับคอนเทนต์และวัฒนธรรมของไต้หวัน แต่ยังช่วยให้ทางสำนักพิมพ์และเหล่าเจ้าของลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์จากไต้หวันได้ขยายโอกาสทางธุรกิจในต่างประเทศอีกด้วย
ในปีนี้ สถาบันฯ ได้จัดกิจกรรมแนะนำหนังสือภาพในธีม “หนังสือภาพฮีลใจ” ขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่กรุงเทพฯ ดึงผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คนจากวงการสำนักพิมพ์และตัวแทนผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจภายในงานเป็นจำนวนมาก และได้เจรจาจับคู่ธุรกิจไปถึง 33 กลุ่ม ทั้งนี้ ยังได้มีการจัดแสดงตัวอย่างหนังสือภาพและงานกราฟิกของตัวละครคาแรกเตอร์ เช่น หวังอามะ และแมวซ่วงซ่วง ที่โซนนิทรรศการ TAIWAN’S IP FUR-EVER LAND ณ บริเวณทิม ฮอร์ตันส์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างวันที่ 5-14 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้ทุกคนได้มาสัมผัสกับเสน่ห์ของหนังสือภาพและผลงานลิขสิทธิ์จากไต้หวัน โดยนิทรรศการนี้ได้ดึงดูดผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก มีหลายคนหยุดดูนิทรรศการ ถ่ายเซลฟี่กับคาแรกเตอร์ และพลิกดูหนังสือตัวอย่าง
ช่าย เจียจวิ้น ประธานสถาบันสร้างสรรค์คอนเทนต์ไต้หวัน (TAICCA) กล่าวว่า “หนังสือภาพได้มีบทบาทสำคัญในกลุ่มนักอ่านในประเทศไทย อีกทั้งเหล่าคาแรกเตอร์ตัวละครจากหนังสือภาพ รวมถึงการนำลิขสิทธิ์ตัวละครนั้น ๆ มาใช้บนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ได้รับความนิยมอย่างล้มหลามในตลาดไทยเช่นกัน ไต้หวันของเรามีนักสร้างสรรค์หนังสือภาพและผลงานมากมายที่ได้รับการพิสูจน์จากท้องตลาดแล้วว่าดีและมีคุณภาพ เราหวังว่าการจัดงานแนะนำหนังสือภาพและนิทรรศการในครั้งนี้ จะสามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจและมุมมองต่าง ๆ ต่อการสร้างสรรค์หนังสือภาพของไต้หวันสู่สายตาคนไทย เนื่องจากเราเล็งเห็นว่าการเจาะตลาดไทย จะสามารถเปิดทางให้หนังสือภาพจากไต้หวันเข้าสู่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสและสร้างพื้นที่พัฒนาให้แก่เหล่านักสร้างสรรค์หนังสือภาพมากขึ้นอีกด้วย”
นายธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือฯ (PUBAT) กล่าวว่า “ไต้หวันและประเทศไทยมีการแลกเปลี่ยนด้านสื่อสิ่งพิมพ์มาอย่างยาวนาน หนังสือที่ TAICCA ได้คัดสรรมาในครั้งนี้น่าสนใจอย่างมาก เป็นผลงานที่อบอุ่น ดีต่อใจ และสามารถแชร์ความรู้สึกร่วมกันได้แม้จะต่างวัฒนธรรมกัน” นอกจากนี้ ตัวแทนจากสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ ยังกล่าวด้วยว่า “หนังสือฮีลใจและหนังสือภาพได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย การแนะนำหนังสือในงานสัมมนาครั้งนี้มีความชัดเจน และการนำหนังสือเล่มจริงมาจัดแสดงทำให้สัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของหนังสือภาพอย่างแท้จริง อีกทั้งหนังสือยังมีความหลากหลายและโดนใจผู้อ่านชาวไทย” ครูชีวัน วิสาสะ นัดวาดหนังสือภาพชื่อดังของไทย ผู้รับหน้าที่อ่านและแนะนำหนังสือในงานสัมมนาครั้งนี้กล่าวเสริมว่า “รายชื่อหนังสือที่แนะนำโดย TAICCA ในครั้งนี้มีความหมายลึกซึ้ง และคงจะถูกใจผู้อ่านชาวไทยอย่างแน่นอน
ตัวแทนผู้ดูแลลิขสิ
ทธิ์คาแรกเตอร์จากไต้หวันที่เข้าร่วมงานในปีนี้เผยว่า “การจับคู่ธุรกิจและเจรจากับผู้ประกอบการไทยในงานสัมมนาครั้งนี้ ทำให้พวกเขาได้เข้าใจภาพรวมอุตสาหกรรมการซื้อขายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย กลยุทธ์การตลาด และความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีในการขยายตลาดสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
สถาบันฯ ผู้จัดงาน ได้นำหนังสือภาพยอดนิยมจำนวนกว่า 26 เล่มจากไต้หวันมาจัดแสดงภายในงานแนะนำหนังสือภาพครั้งนี้ อาทิ “สถาบันสิ่งแปลกปลอม”, “ชีวิตในฮาเร็มของหวังอามะ: แมวซุปเปอร์ยุ่ง 3”, “ระหว่างฉันกับพวกเรา มีเพียงคำว่าราตรีสวัสดิ์ที่ขาดหาย”, “สารานุกรมภาพประกอบของความรักอันดุร้าย”, “ชีวิตแมวในไต้หวัน” เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบัน ฯ ยังได้เชิญ ครูชีวัน วิสาสะ นักเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กชื่อดัง ผู้สร้างสรรค์ “อีเล้งเค้งโค้ง” มาร่วมแนะนำหนังสือภาพฮีลใจในครั้งนี้อีกด้วย ภายในงานมีการจัดแสดงหนังสือภาพตัวอย่าง รวมถึงผลิตภัณฑ์สุดน่ารักจากเหล่าคาแรกเตอร์ตัวละคร พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ลองอ่านหนังสือภาพฉบับภาษาไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยงานนี้มีเหล่าผู้แทนจากสำนักพิมพ์ชื่อดังในไทยจำนวนมากมาเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล อาทิ สำนักพิมพ์อมรินทร์, สำนักพิมพ์ SE-ED, สำนักพิมพ์มติชน และสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เป็นต้น
งานแนะนำหนังสือภาพและคาแรกเตอร์ลิขสิทธิ์จากไต้หวันในครั้งนี้ ไม่เพียงแค่แนะนำหนังสือภาพ แต่ยังมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (SPEED-MATCHING) เพื่อให้เหล่าผู้ประกอบการในไทยได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทางธุรกิจกับฝั่งไต้หวัน ให้เหล่าผู้ประกอบการได้เห็นถึงความเสถียรภาพและมูลค่าทางการตลาดของเหล่าคาแรกเตอร์ IP จากไต้หวัน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายลิขสิทธิ์และการร่วมมือกันในอนาคต โดยเหล่าผู้แทนด้านลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์จากฝั่งไต้หวันยังสามารถยื่นข้อเสนอและเจรจาพูดคุยกับเหล่าผู้ประกอบการไทยผ่านกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในตลาดคาแรกเตอร์และความต้องการของผู้ประกอบการไทย แต่ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายให้มากขึ้นในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้สถาบันฯ ยังได้มีการจัดโซนนิทรรศการจัดแสดงตัวอย่างหนังสือภาพและงานกราฟิกของตัวละครคาแรกเตอร์ IP จากเหล่าผู้เขียนชื่อดังจากไต้หวัน ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ อาทิ “Ms. Cat”, “แมวซ่วงซ่วง”, “ชีวิตในฮาเร็มของหวังอามะ”, “สถาบันสิ่งแปลกปลอม”, “วันหนึ่ง ฉันก็บินขึ้นไปทันที” และ “Chichi & 87 Rabbit” เป็นต้น โดยผู้เข้าชมสามารถสแกนเพื่อทดลองอ่านหนังสือภาพฮีลใจฉบับภาษาไทย เข้าถึงข้อมูลของเหล่าคาแรกเตอร์ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของเหล่าตัวละคร IP บนแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงถ่ายรูปที่ตู้สติกเกอร์ร่วมกับเหล่าคาแรกเตอร์ที่น่ารักเหล่านี้ได้ที่โซนนิทรรศการ